top of page

เรื่อง ระบบต่อมไร้ท่อ

Do Now

    

thumbnail_life_skill_with_game_quiz_ep_0

Purpose

    เราจะเรียนเรื่องระบบประสาท เพื่อศึกษาความสำคัญและดูแลรักษาการเจริญเติบโตของเรา

ระบบต่อมไร้ท่อ

    ความสำคัญของระบบต่อมไร้ท่อที่มีผลต่อสุขภาพ การเจริญเติบโตและ พัฒนาการของวัยรุ่น

          ต่อมไร้ท่อมีความสำคัญต่อร่างกายในการควบคุมอวัยวะภายในร่างกายให้ทำงานสัมพันธ์กันและควบคุมการทำงานของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล โดยการสร้างและหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า ฮอร์โมน (Hormone) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการเจริญเติบโต การทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและพัฒนาการเป็นไปตามวัย ฮอร์โมนที่ถูกผลิตจากต่อมไร้ท่อจะถูกส่งไปตามส่วนต่างๆของร่างกายโดยการลำเลียงไปกับนํ้าเลือด

    ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System)

    ต่อมไร้ท่อในร่างกายและหน้าที่การทำงาน

    ต่อมไร้ท่อในร่างกายและหน้าที่การทำงาน

        ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ตั้งอยู่ในกะโหลกศีรษะบริเวณใต้สมอง ต่อมใต้สมอง  แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ต่อมใต้สมองส่วนหน้าและต่อมใต้สมองส่วนหลัง

 

        ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) ตั้งอยู่ด้านหน้าของลำคอ ผลิตฮอร์โมนชื่อว่า ไทรอกซิน (Thyroxine) โดยใช้ไอโอดีนเป็นตัวสร้าง ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก สมอง และระบบประสาท ช่วยเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ ฮอร์โมนไทรอกซินช่วยควบคุมการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายมีไทรอกซินน้อยเกินไป ในวัยเด็กจะมีร่างกายเตี้ย แคระแกร็น พูดช้า โตช้า พุงยื่น ปัญญาอ่อน ในผู้ใหญ่มีอาการบวมที่มือ เท้า ใบหน้า ผิวแห้ง  ตกสะเก็ด ความจำเสื่อม เกิดโรคคอพอก แต่ถ้าไทรอกซินมากเกินไป ร่างกายจะซูบผอม นํ้าหนักลด  กินจุ อ่อนแอ เกิดโรคคอพอกเป็นพิษ

        ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) เป็นต่อมเล็กๆ 4 ต่อม ตั้งอยู่ด้านหลังต่อมไทรอยด์ ผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความสมดุลของธาตุแคลเซียม (Calcium) และฟอสฟอรัส (Phosphorus) ในกระแสเลือดให้คงที่

        ต่อมไทมัส (Thymus gland) ตั้งอยู่ในทรวงอกส่วนบน ในวัยเด็กต่อมนี้จะมีขนาดใหญ่ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะเล็กลงและฝ่อไปในที่สุด ต่อมนี้ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกาย

       

        ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) ลักษณะเป็นก้อนสีเหลืองๆคล้ายรูปสามเหลี่ยมหรือ รูปพระจันทร์เสี้ยวอยู่ส่วนบนของไตทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 ต่อม ผลิตฮอร์โมนอะดรีนาลิน(Adrenalin)  เมื่อเวลาโกรธหรือกลัว ต่อมนี้จะผลิตฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อมีแรงมากขึ้น ผลักดันให้ร่างกายพร้อมที่จะสู้หรือวิ่งหนี นอกจากนี้ต่อมหมวกไตยัง ผลิตฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิง ถ้าต่อมนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้เด็กชายมีพัฒนาการทางเพศเร็วขึ้น เด็กหญิงมีลักษณะทางเพศค่อนไปทางเพศชาย

        ต่อมเพศ (gonad gland) อวัยวะสืบพันธุ์เจริญมาจากเนื้อเยื่อชั้นกลาง ฮอร์โมนที่สร้างจึงเป็นพวกสารสเตอรอยด์ (steroid hormone) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 

        1. ฮอร์โมนจากอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย

        ฮอร์โมนเพศชายสร้างมาจากอัณฑะ (testis) ภายในอัณฑะมีกลุ่มเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมน คือ อินเตอร์สติเชียลเซลล์ออฟเลย์ติก อยู่ระหว่างหลอดสร้างอสุจิ เมื่อเซลล์นี้ถูกกระตุ้นโดย ICSH หรือLH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า จะสร้างฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่าแอนโดรเจน (androgen) ตัวที่สำคัญที่สุด คือ เทสโทสเตอโรน (testosterone) มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ และควบคุมลักษณะชั้นที่สองของเพศชาย ซึ่งได้แก่ การมีเสียงแตก นมขึ้นพาน มีหนวดเครา มีขนที่อวัยวะเพศ มีความต้องการทางเพศ มีผลในการกระตุ้นให้มีการสร้างโปรตีนมากขึ้น และเกิดการสะสมของโปรตีนในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีผลร่วมกับโกนาโดโทรฟิน (LH และ FSH) จากต่อมใต้สมองในการกระตุ้นการสร้างอสุจิของหลอดสร้างอสุจิ

        2. ฮอร์โมนจากอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง

        ฮอร์โมนเพศหญิงสร้างมาจากรังไข่ (ovary) ซึ่งมีฮอร์โมนที่สำคัญดังนี้

        1.อิสโทรเจน (estrogen) สร้างมาจาก เนื้อเยื่อขอบนอกของแกรเฟียนฟอลลอเคิลที่เรียกว่าทีกาอินเทอร์นา (theca interna) ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่กระตุ้นและควบคุมลักษณะขั้นที่สองของเพศหญิง โดยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมเจริญเติบโตขึ้น กระตุ้นการเจริญของอวัยวะเพศ กระตุ้นมดลูก ท่อนำไข่ การเกิดขนที่อวัยวะเพศ ควบคุมการมีประจำเดือนร่วมกับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน เมื่อปริมาณ อิสโทรเจนสูงขึ้น จะมีผลให้ LH สูงขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการตกไข่

        2. โพรเจสเทอโรน (progesterone) โพรเจสเทอโรน สร้างมาจากคอร์พัสลูเทียม (corpus luteum) ของรังไข่ เมื่อไข่ตกแล้ว ผนังของฟอลิเคิลที่ไข่ตกจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อ สีเหลือง โดยการกระตุ้นของ LH จากต่อมใต้สมองส่วหน้า เนื้อเยื่อสีเหลืองคือ คอร์พัสลูเทียม ฮอร์โมนนี้มีผลในการกระตุ้นผนังในมดลูกให้หนาขึ้น(ร่วมกับอิสโทรเจน) เพื่อเตรียมพร้อมในการฝังตัวของไข่ซึ่งได้รับการผสมแล้ว มีผลในการห้ามการมีประจำเดือน ห้ามการตกไข่ และกระตุ้นการเจริญของต่อมน้ำนมด้วย ถ้าหากไข่ที่ตกไม่ได้รับการผสม คอร์พัสลูเทียมจะค่อยๆสลายไป โพรเจสเทอโรนจะลดต่ำลง จึงไม่มีฮอร์โมนไปกระตุ้นมดลูกอีก ทำให้ผนังมดลูกสลายและหลุดออกมาเป็นประจำเดือน

        วิธีดูแลรักษาระบบต่อมไร้ท่อให้ทำงานตามปกติ

        รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อต่อมไร้ท่อ เช่น

          - แคลเซียม ได้จาก นมถั่วเหลือง และปลาตัวเล็กตัวน้อยที่รับประทานได้ทั้งตัว

          - ฟอสเฟส ได้จาก กุ้ง ปู  เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง มะม่วงหิมพานต์ ใบขี้เหล็ก มะระขี้นก และข้าวโอ๊ต

          - เหล็ก ได้จาก ตับ เลือดหมู ไข่แดง ถั่วเมล็ดแห้ง และผักที่มีสีเขียวเข้ม

          - ไอโอดีน ได้จาก อาหารทะเล  เกลือทะเล และเกลือเสริมไอโอดีน

          - ออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมกับเพศและวัย

          - พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง

          - หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับต่อมไร้ท่อ เช่น การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานยาที่อาจมีผลกับต่อมไร้ท่อ

          - สังเกตและสำรวจสภาพร่างกายของตนเองสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติหรือมีพัฒนาการช้าเกินไป ควรบอกพ่อแม่ ผู้ปกครอง และรีบปรึกษาแพทย์

        การประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ

          การดำรงชีวิตได้อย่างปกติ จำเป็นต้องมีการทำงานที่สอดคล้องกันอย่างเหมาะสมของระบบต่าง ๆ ระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อนั้น มีการทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด เรียกว่า ระบบประสานงาน (Coordination) โดย ระบบประสาทจะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ การรับรู้การตอบสนองสิ่งเร้าต่าง ๆ ระบบต่อมไร้ท่อจะสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมลักษณะที่เปลี่ยนแปลงของร่างกายแบบค่อยเป็นค่อยไปของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ

          ตัวอย่างการทำงานประสานกันของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ไฮโพทาลามัสที่อยู่ในสมอง (ระบบประสาท) ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytoxin) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นมดลูกให้บีบตัวขณะคลอดบุตร และกระตุ้นการหลั่งนํ้านมขณะเลี้ยงดูบุตรของเพศหญิง  ส่วนในเพศชายฮอร์โมนนี้จะช่วยในการหลั่งอสุจิ และฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (Vasopressin) ที่ช่วยรักษาสมดุลของนํ้าในร่างกาย ขับปัสสาวะ กระตุ้นและควบคุมการบีบตัวของกล้ามเนื้อหลอด-เลือดแดง  ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ จะถูกเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง (ระบบต่อมไร้ท่อ) ไฮโพทาลามัสยังผลิตและหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งหรือยับยั้งฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (ระบบต่อมไร้ท่อ) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายให้เป็นปกติ มีหน้าที่กระตุ้นให้อัณฑะในเพศชายเจริญเติบโต สร้างอสุจิและหลั่งฮอร์โมนเพศชาย และกระตุ้นรังไข่ของเพศหญิง ทำให้เกิดการตกไข่

ต่อมไร้ท่อ.jpg
ต่อมไร้ท่อ1.jpg
ต่อมไร้ท่อ2.jpg
ต่อมไร้ท่อ3.jpg
ต่อมไร้ท่อ4.jpg
ต่อมไร้ท่อ5.jpg
กาตูนทำข้อสอบ.gif
bottom of page